หลายคนที่คลิกมาอ่านบทความนี้ คงเคยได้เจอทั้งทีมที่ดี และไม่ดี ในรูปแบบของตัวเองมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในฐานะคนในทีม หัวหน้าทีม หรือว่าเจ้าของบริษัท
หลังจากที่ทำงานมาได้เกือบสิบปี เจอบริษัทและทีมมากหลายหลาย ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพ SMEs หรือว่าบริษัทที่มีพนักงานหลายร้อยคนแล้วก็ตาม สิ่งที่ได้เห็นเหมือน ๆ กันทุกครั้ง ก็คือทีมที่ประสบความเร็จ ทั้งด้านผลงานและความสุขของคนในทีม ปัจจัยหลักเลยก็มาจากหัวหน้า หรือผู้นำทีมนี่แหละ
แล้วผู้นำที่ดีเค้า เลือก ตอนไหน แล้ว ใช้ อะไรเป็นบ้างนะ?
ผู้นำของเรา ไม่ว่าจะมีประสบการณ์มากมายแค่ไหน อายุเยอะเท่าไหร่ หรือว่ามีความรู้เฉพาะทางแบบไหน
สุดท้าย หัวหน้าก็คนปกติ ที่มี bandwidth จำกัด พร้อมกับเวลา 24 ชั่วโมงเหมือนทุกคนนี่แหละ
ที่สำคัญคือ ผู้นำมักจะมาพร้อมกับอำนาจในการตัดสินใจ ที่สามารถกำหนดทิศทางของทีมหรือบริษัทได้ แต่ด้วยเวลาและพลังงานที่มีจำกัด ทำให้ผู้นำที่มีโอกาสจะนำทีมได้ประสบความสำเร็จมากกว่า รู้จัก เลือก ใช้เวลาไปกับสิ่งที่สำคัญ (ที่เรายังอยู่ด้วยกัน — ใครทำนองมาเราคือเพื่อนกัน)
ยกตัวอย่างเช่น ผู้นำบางคน อาจจะเลือกใช้เวลาของตัวเองมาตรวจสอบงานของคนในทีมเพราะเชื่อว่าการดูแลตัวงานอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งสำคัญ ผู้นำบางคนอาจจะต้องการสัมภาษณ์คนมาทำงานทุกคนด้วยตัวเอง เพราะเชื่อว่าการเลือกคนเข้ามาในทีมเป็นสิ่งสำคัญ ผู้นำบางคนอาจจะเลือกไป networking ซะส่วนใหญ่ เพราะเชื่อว่าการมีวงสังคมที่กว้างขวางเป็นเรื่องสำคัญ
แน่นอนว่า ความสำคัญของแต่ละองค์กรนั้นไม่เท่ากัน ผู้นำที่ดีสำหรับองค์กรนั้น ก็คือผู้นำที่เลือกให้เวลาและความสำคัญเพื่อให้ทีมหรือองค์นั้นไปถึงเป้าหมายได้นั่นเอง
เรื่องคนเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้นำทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้นำที่มีโอกาสนำทีมให้ประสบความสำเร็จ คือผู้นำที่นอกจากจะใช้ คนให้ถูกกับงานแล้ว ยังต้องรู้จักบริหารคนให้เป็นด้วย
ถ้าคุณอยากได้บริษัทที่มีความกล้า มุ่งมั่นท้าทายสิ่งใหม่ ๆ แต่ว่าผู้นำคอยจับผิดว่าพนักงานมาทำงานและกลับตรงเวลามั้ย หรือว่าอยากได้บริษัทที่ทุกคนทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดเพราะว่างานไม่ได้ต้องการนวัตกรรมมาก แต่กลับเลือกใช้แต่เด็กรุ่นใหม่ไฟแรงในทีม ก็คงยากที่จะประสบความสำเร็จ
ดังนั้น ผู้นำจะต้องรู้จักใช้คนให้เป็น ดูแลคนให้ได้ สร้างแรงบันดาลใจเพื่อขับเคลื่อนทีมไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างฉลาด
นี่เป็นการตกผลึกจากการสังเกตของเราเอง ถือว่าเป็นมุมมองจากคนรุ่น Millennial ต่อทีมที่เราได้เห็นมานะ ใครมีความคิดยังไงมาแบ่งปันกันได้เลย 🙂