Early is on time, on time is late, and late is unacceptable.
หรือที่แปลได้ว่า “มาก่อนคือตรงเวลา มาตรงเวลาคือสาย และการมาสายนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้” เราได้ยินคำนี้มานานมากพอ ๆ กับความสงสัยที่ก่อตัวขึ้นอยู่ในจิตใจ ว่าเพราะเหตุใดคนไทยหลายคนถึงไม่เข้าใจระบบนี้กัน
ทำไมคนไทยหลายคนถึงบอกว่า เดี๋ยวจะโทรหาช่วงบ่ายๆ ทั้งที่บอกได้เลยว่าจะโทรมากี่โมง หรือเพราะอะไรหลายคนจึงถือว่าการมาสายเป็นเรื่องปกติ แบบไม่จำเป็นต้องขอโทษขอโพยที่ทำให้อีกฝ่ายต้องมารอแบบไม่เคารพเวลากัน หรือทำไมการที่เพื่อนจะบอกว่า ใกล้ถึงแล้ว แต่จริงๆ เพิ่งออก มันกลายเป็นเรื่องปกติจนเป็น Meme ให้เราได้แชร์กัน
จนวันนึงเราได้พบกับหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดที่เราเคยอ่าน เจ้ากระดาษขาวตุ่นที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือสีดำในปกเหลืองที่ชื่อว่า The Culture Map มันเป็นหนังสือที่เล่าถึงความแตกต่างของวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ และหนทางในการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น เราชอบหนังสือเล่มนี้มาก ๆ เพราะว่ามันไม่ได้สอนให้เรา “ควบคุม ต่อรอง หรือ เปลี่ยนความคิด” ของใคร แต่เจ้าหนังสือปกเหลืองสดเล่มนี้กลับสอนให้เราเข้าใจถึงวัฒนธรรมและพฤติกรรมที่ต่างออกไปจากความคุ้นชิน พร้อมเล่าแนวทางให้เราอยู่ร่วมกับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความตรงต่อเวลา: ความหรูหราที่คนในประเทศกำลังพัฒนาจ่ายไม่ไหว
หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงระหว่าง 277 หน้าที่เราได้อ่าน คือเรื่องของความตรงต่อเวลา ตัวอักษรหลายร้อยพันตัวประกอบกันเพื่อเริ่มต้นเล่าเรื่องราวของการทำงานร่วมกันในบริษัทที่มีคนเยอรมัน และ ไนจีเรีย คนเยอรมันมักจะต้องการจัดการอนาคตไว้อย่างรอบคอบ การวางแผนเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิต หากจะมีประชุมกันทุกเดือนอยู่แล้ว เราก็แค่จัดตารางประชุมแล้วลงไว้ในปฏิทินล่วงหน้าไว้ซักปีก็ไม่มีปัญหา ประเด็นเกิดขึ้นเมื่อทีมในจีเรียจะเดินทางไปร่วมอีเวนท์ที่เยอรมันในอีกสามเดือนข้างหน้า แล้วทางเมืองเบียร์ก็ได้ส่งอีเมลมาถามทีมที่กำลังจะเดินทางข้ามโลกไปว่า “มื้อเที่ยงอยากทานอะไร?”
ฝั่งไนจีเรียถึงกับเอียงคอใส่อีเมลด้วยความสงสัย ว่าคุณพี่เยอรมันเค้ารู้ได้ยังไงว่าอีกสามเดือนข้างหน้าจากวันนี้เนี่ย เค้าจะอยากทานอะไรเป็นอาหารกลางวัน? ก็ชาวไนจีเรียเค้าอยู่ในประเทศที่จะมีวันหยุดเมื่อไหร่ก็ยังไม่มีใครแน่ใจ จนกว่าท่านผู้นำประเทศจะเดินออกมามองพระจันทร์คืนไหน แล้วประกาศว่าพระจันทร์ดูต่างออกไป น่าจะถึงวันหยุดครั้งใหญ่ของพวกเรากันแล้วล่ะ
นี่คือความแตกต่างที่เราได้เห็นชัดของทั้งสองประเทศ เมื่อเรามามองกันจริง ๆ แล้ว ประเทศที่มีวัฒนธรรมการตรงต่อเวลา อย่างเยอรมัน หรือญี่ปุ่น ต่างก็เป็นประเทศที่มีการออกแบบเมืองไว้อย่าง “คิดมาแล้ว” เป็นประเทศที่ถ้าบอกว่ารถไฟจะมา มันก็จะมา และเมื่อมีการล่าช้าเกิดขึ้นในระบบไม่ว่าส่วนใด มันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจัดการ เพราะว่ามันกระทบต่อ “เวลา” อันมีค่าและน่าเคารพของประชากรทุกคน โดยทั่วไปแล้วประเทศพวกนี้มักจะมีประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่เกิดจากอุตสาหกรรมเป็นหลัก หากเราเข้าสายการผลิตในโรงงานช้าไปเพียงไม่กี่นาที ทุกระบบในโรงงานนั้นก็จะล่าช้ากระทบตามต่อกันไปทั้งหมด จนส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการตรงต่อเวลาต่อเนื่องยาวนานมา
ตัดภาพกลับมาที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไนจีเรีย เคนย่า หรืออินเดีย ที่การวางแผนชีวิตแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ในหนังสือเล่าเอาไว้ว่า ในประเทศเหล่านี้ การเมืองเป็นเรื่องไม่แน่นอน นโยบายเปลี่ยนแปลงเสมอ และปัญหาชีวิตประจำวัน เช่นการขนส่งสาธารณะมักไม่เอื้ออำนวย มันหล่อหลอมให้วัฒนธรรมการตรงต่อเวลา เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ จนสุดท้ายประชาชนก็ต้องยอมรับ และปรับตัวกับระบบนี้ไปเอง ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องการตรงต่อเวลา ก็เป็นประเทศที่พึ่งพาเกษตรกรรมเป็นหลัก ถ้าเราไปที่สวนช้าไปซักห้านาที สิบนาที หรือกระทั่งครึ่งวัน มันก็ไม่ได้ทบอะไรกับใครเท่าใดนัก จนการตรงต่อเวลาแทบจะกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็นไปเลย
แน่นอนว่าประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้น ประเทศที่เราไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่น้ำป่าจะไหลหลาก ถนนจะพัง น้ำจะขังรอระบาย รถเมล์จะมารับ มอเตอร์ไซค์จะเกิดอุบัติเหตุ ฝนตกแล้วจะรถติดกี่ชั่วโมง หรือกระทั่งรถไฟฟ้าที่ควรจะกำหนดตารางเวลาได้มากที่สุด เราก็ยังไม่อาจจะรู้ได้อีก ว่าวันดีคืนดีรถจะเสียหรือเปล่า จะซ่อมเสร็จเมื่อไหร่ แล้วคนจะล้นมากแค่ไหนกัน
การออกแบบเมืองแบบไทยๆ นี้เอง ที่ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ไม่สามารถจะซื้อความหรูหราอย่างความตรงต่อเวลาได้ นอกจากเราจะไปนั่งรออยู่ที่นัดพบสักสองชั่วโมงล่วงหน้า หรือมีเฮลิคอปเตอร์พาเราผ่าทุกอุปสรรคไปได้ แทบจะเป็นไปได้ยากมากๆ ที่เราจะกำหนดเวลาชีวิตของตัวเอง และเคารพเวลาของผู้อื่นได้อย่างเต็มที่อย่างที่ตั้งใจ จนสุดท้ายก็เหมือนจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และยอมรับได้แล้ว สำหรับการมาสายบ้างนิดๆ หน่อยๆ
แต่ที่น่าสนใจคือลายเส้นสีดำบนกระดาษขาวตุ่นที่อยู่ตรงหน้า มันกลับไม่ได้บอกว่าระบบเวลาไหลลื่นแบบไทยๆ จะไม่ดีเสมอไป อีกวัฒนธรรมที่เมืองของเราสร้างขึ้นมา ก็คือการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ชาญฉลาดว่องไวนี่เอง
ความไม่ตรงต่อเวลา แลกมาด้วยการปรับตัวเก่ง
หนึ่งในประเทศที่ใช้ระบบเวลาแบบยืดหยุ่น ก็คือประเทศจีน ในหนังสือเล่าประสบการณ์จากชายชาวอเมริกันที่เติบโตในญี่ปุ่น และไปทำงานในที่ประเทศจีน เค้าเล่าเอาไว้ว่า ทุกอีเวนท์ ทุกการประชุม ทุกการนัดพบ จะต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจาก Agenda ที่ตั้งเอาไว้เสมอ แต่จีนก็ยังเป็นประเทศมหาอำนาจได้ เพราะว่าการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้เก่งนี่เอง ก็เป็นอีกหนึ่งในข้อดีที่มากับประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ระบบการเมืองของไทยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ วันหยุดชดเชยต่างๆ ก็ประกาศล่วงหน้าไม่นานเท่าที่อยากให้เป็น ขนส่งสาธารณะก็คาดเดาใจไม่ได้ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้คนไทยปรับตัวได้เก่งต่อทุกสถานการณ์ และสามารถอยู่ได้อย่างสบายพอประมาณไม่ว่าสิ่งแวดล้อมจะกดดันเลวร้ายเพียงใดก็ตาม คนไทยจึงปรับตัวเก่ง นั่นเอง
การเข้าคิว เกิดขึ้นเมื่อเวลาได้รับการเคารพ
หนึ่งในอีกพฤติกรรมที่น่าสนใจ ก็คือประเทศที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องตรงต่อเวลา มักจะไม่ค่อยมีวินัยในการเข้าคิว เหตุผลก็คือการเข้าคิว เกิดจากการเคารพต่อเวลาของแต่ละบุคคล พนักงานสามารถบริการได้ทีละคน และใส่ใจกับคนคนนั้นที่ได้เสียเวลามาต่อคิว และนี่คือเวลาที่คนนั้นจะได้รับบริการ เรียกว่าเป็นวัฒนธรรมการเปิดกล่อง ทำงานให้เสร็จ ปิดกล่อง แล้วย้ายไปกล่องต่อไปทีละกล่อง
ส่วนประเทศที่ไม่ค่อยเข้าแถว หรือมีการเข้าแถวแบบสไตล์ตัวเอง อย่างอินเดีย ที่ในหนังสือยกตัวอย่างไว้ ว่ามีการเข้าแถวแบบ ต้นไม้ใหญ่ ก็คือมีเส้นคิวหลักหน่ึงเส้นยาวๆ และถ้าแถวยาวเกินไป ก็จะมีคนไปยืนข้างๆ คนที่ประมาณ 4-5 ของแถวหลักแล้วก็พยายามให้คนมาต่อหลังตัวเอง เพื่อสร้างแถวใหม่ พอยาวแล้ว คนก็ทำแบบเดิม แตกแถวใหม่ไปเรื่อยๆ เหมือนต้นไม้แตกกิ่งก้าน คนในประเทศแบบนี้มักจะทำหลายๆ อย่างพร้อมกันได้เก่ง เปรียบได้เหมือนการเปิดกล่องพร้อมกันเลยสิบกล่อง แล้วทำงานบนกล่องนั้นนิด นี่หน่อย จนทยอยๆ เสร็จผสมๆ กัน ไม่ได้มีแนวชัดเจน สุดท้ายก็สำเร็จเหมือนกันแต่อาจจะดูมั่วๆ หน่อยนั่นเอง
ในโลกธุรกิจ การตรงต่อเวลาสำคัญที่สุด?
สำหรับการทำงานแล้ว การไม่ตรงต่อเวลานั้นอาจจะส่งผลให้เกิดกระทบต่อคนอื่นๆ ในทีม งานที่ไม่เดิน เสียลูกค้า กระทบกับองค์กรโดยตรง แต่ถ้าเราต้องไปทำงานกับประเทศ หรือกลุ่มคนที่ไม่ตรงต่อเวลา วิธีที่ดีที่สุดก็คือ “ปรับตัว” เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกคนก็จะคิดว่าระบบของตัวเองดีทั้งนั้น คนจีนมองว่าคนญี่ปุ่นตรงเวลาเกินไป วางแผนนาน และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ส่วนคนญี่ปุ่นก็มองว่าคนจีนไร้ระเบียบ ไม่วางแผน แต่ทั้งสองประเทศก็ประสบความสำเร็จในแนวทางของตัวเอง ดังนั้นถ้าเรามัวแต่จะเอาแนวทางของเราไปผลักดันให้คนอื่นทำตาม ก็รังแต่จะสร้างความหงุดหงิดให้กับทั้งสองฝ่าย สุดท้ายแล้ว การเข้าเมืองตาหลิ่วให้หลิ่วตาตาม อาจจะเป็นข้อสรุปในเรื่องนี้
สร้างวัฒนธรรมและอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ
ตัวหนังสือเองสรุปไว้เท่านี้ แต่เราก็ยังเชื่อว่าสำหรับองค์กรแล้ว แต่ละทีมสามารถสร้างวัฒนธรรมของตัวเองได้ เช่น ทีมของเราต้องตรงต่อเวลานะ เคารพเวลาคนอื่น มีการวางแผนไว้จะได้ดำเนินการทุกอย่างไปทิศทางเดียวกัน หรืออีกทีมอาจจะบอกเลยว่า จะมากี่โมงก็ได้ ทำงานกี่โมงก็ได้ จัดการตัวเอง ไม่ต้องประชุมเยอะ แต่ต้องงานเสร็จ เพราะไม่ว่าประเทศของเราจะมีวัฒนธรรมอย่างไร วัฒนธรรมย่อยที่หลากหลายและแตกต่างก็ยังเกิดขึ้นและสร้างได้ในสังคมแบบที่เราอยากให้เป็นเสมอ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเกิดขึ้นจากความเข้าใจ ถ้าวันนี้ฝนตกทั้งเช้าแล้วน้ำท่วม เอ้ย น้ำขังรอระบายทั่วกรุง ก็คงจะไม่ดีเท่าไหร่หากเรากดดันเพื่อนร่วมงานที่มาสาย หรือถ้า BTS กำลังจัดการจราจร ก็อย่าไปอะไรกับเพื่อนที่นัดไว้แล้วมาไม่ทันเลย
ดังนั้นครั้งต่อไปที่เพื่อนของเราบอกว่า “จะถึงแล้ว” แต่จริงๆ เพิ่งออกจากบ้าน เราหงุดหงิดใจได้เหมือนเติม แต่ที่เพิ่มเติมคือความเข้าใจ ว่าวัฒนธรรมนี้มันได้ฝังรากลึกลงไปเพราะความจำเป็น หากแต่วันใดวันนึงเราสามารถจะสร้างเมืองที่เอื้ออำนวยต่อการตรงต่อเวลาได้ แล้ววัฒนธรรมการเคารพเวลาที่เราตามหา มันคงจะเกิดขึ้นมาได้แบบไม่ต้องบังคับขืนใจกันมากเกินไปนัก