Home » Marketing » SEO » EEAT ที่เดียวจบ เข้าใจตลอดไป ใช้ได้ทันที – SEO โบ๊ะบ๊ะ

EEAT ที่เดียวจบ เข้าใจตลอดไป ใช้ได้ทันที – SEO โบ๊ะบ๊ะ

Share:FacebookX

EEAT ไกด์ไลน์สำคัญสุดในการทำ SEO ครบ เข้าใจง่าย เอาไปใช้ได้เลย

สวัสดีค่ะ วันนี้มาเจอกันกับ ตังเม SEO โบ๊ะบ๊ะสไตล์ by Chalakorn Berg วันนี้เมจะเล่าให้ฟังเรื่อง E-E-A-T ซึ่งเป็นไกด์ไลน์ที่สําคัญที่สุดเลย ในการทํา SEO ในยุคนี้นะคะ ตามมาดูกัน รับรองว่าเข้าใจง่าย เอาไปใช้ได้ทันทีเหมือนเคยค่ะ :))

คอนเทนต์สร้างง่าย สแปมเยอะ Google เลยต้องยิ่งเน้นคุณภาพด้วย E-E-A-T

ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ใครๆ ก็ทําคอนเทนต์ออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ มันง่ายมากเลย โดยเฉพาะในยุคที่มี AI จะสร้าง content ออกมา 3000 คำ ภายใน 3 วินาทีก็ได้ ด้วยเหตุผลนี้ค่ะ เลยทําให้โลกมีคอนเทนต์เยอะมากๆ เลย คอนเทนต์ 60% ใน Google นั้นซ้ำกัน แล้วก็ไม่มีประโยชน์ Google บอกว่าจับาสแปมได้วันละ 40,000 ล้านหน้าเลยค่ะ

Google เนี่ย เขาก็เลยอยากสร้างผลการค้นหาที่ดีที่สุด ด้วยการสร้างไกด์ไลน์ขึ้นมาเพื่อบอกเราว่า ผลการค้นหาที่ดีเนี่ยมันเป็นยังไง คอนเทนต์คุณภาพที่ดีเนี่ยวัดกันยังไง ออกมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า E-E-A-T พูดง่ายๆ มันก็คือการเล่าในเรื่องที่เรารู้นั่นแหละค่ะ

นึกภาพออกไหมว่าถ้าทุกคนออกมาเขียนคอนเทนต์เหมือนกันว่า SEO คืออะไร Content คืออะไร ผ้าม่านสีฟ้าคืออะไร คอนเทนต์บนโลกมันก็จะเหมือนกันไปหมดใช่ไหม แต่ถ้าเราเล่าเรื่องที่เรารู้ล่ะ เราเล่าว่า เราทํา seo ให้เว็บก่อสร้างเนี่ยมันต้องใช้เทคนิคอะไร ผลงานของเรามันออกมาเป็นยังไง ผ้าม่านสีฟ้า เราติดที่บ้านของเราแล้วมันเป็นแบบไหน ฟ้าแบบไหนถึงสวย ผ้าแบบไหนถึงสวย เนี่ยแหละคือสิ่งที่จะทําให้ Content ของเรามันแตกต่างแล้วก็ไม่เหมือนคนอื่นค่ะ

E-E-A-T คือการสื่อสารความรู้ ประสบการณ์ แบบเฉพาะตัวของเรา
E-E-A-T คือการสื่อสารความรู้ ประสบการณ์ แบบเฉพาะตัวของเรา

E-E-A-T คือการเล่าในเรื่องที่เรารู้

ตัว EEAT เนี่ยค่ะ มันย่อมาจาก Expertise Experience Authority แล้วก็ Trust รวมๆ แล้วเนี่ยมันก็คือการทําเว็บให้น่าเชื่อถือด้วยการเล่าเรื่องที่เรารู้แหละ อย่างถ้าจะให้เมมาเล่าเรื่อง การปลูกต้นไม้ยังไงให้โตเนี่ย ก็ทำไม่ได้ เพราะว่านี่ปลูกยังไงก็ตายหมด T^T แต่เรื่อง SEO นี่เล่าได้หมดอย่างมั่นใจ ดังนั้นแล้ว E-E-A-T ก็เลยเรียกว่าเป็นการสนับสนุนให้เราได้เป็นตัวของตัวเอง

ตัวแรก Expertise คือความเชี่ยวชาญอย่างเป็นทางการ

Expertise คือความเชี่ยวชาญอย่างเป็นทางการ คือสิ่งที่เราต้อง สอบมา เรียนมา ต้องแบบมีใบประกอบวิชาชีพ เช่น การยื่นภาษีก็ควรจะเป็นนักบัญชีหรือว่าสรรพากรที่มาเล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง เรื่องวิทยาศาสตร์ โรคภัย โควิด วัคซีน ก็ควรจะเป็นนักวิจัยหรือว่าคุณหมอที่มาพูดให้เราฟัง หรือถ้าเป็นเรื่องกฎหมายเนี่ย ก็ควรจะเป็นคุณทนายที่มาเล่าให้เราฟัง อย่างจะให้เมมาเล่าเรื่องทางกฎหมายมันก็ไม่ได้ เพราะว่าเมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้เนาะ

Experiences ประสบการณ์จริงที่เราได้ลอง

อีกขานึงคือ มันไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่เราจะอยากได้ความเชี่ยวชาญ อย่างเป็นการทาง (เอ้ย ทางการ!) บางอย่างเราก็อยากจะฟังเรื่องราวจากคนที่ไปทําสิ่งนั้นมาจริงๆ มีประสบการณ์จริงๆ อย่างเรื่องภาษีเนี่ย การยื่นภาษี เราอาจจะต้องพึ่งนักบัญชีหรือสรรพากร แต่ถ้าโปรแกรมภาษี เราก็อยากจะฟังจากคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือว่านักบัญชีคนอื่นๆ ที่เขาได้ลองใช้แล้วมาเล่าให้เราฟังใช่ไหม

เราจะซื้อหูฟังสักอัน แล้วก็คงไม่ได้อยากจะฟังนักวิทยาศาสตร์ที่มาเล่าให้เราฟังว่าคลื่นเสียงมันเดินทางยังไง แต่เราก็อยากจะรู้ว่าคนที่เขาใช้หูฟังจริงๆ เนี่ยเขามองว่ารุ่นนี้มันเป็นยังไง เทียบกับรุ่นอื่นแล้วมันเป็นยังไง ลองใส่แล้วมันสบายไหม มันก็คือการเล่าจากประสบการณ์ใช้จริงใช่ป่ะ

หรือรีวิวโรงแรม รีวิวร้านอาหาร รีวิวที่เที่ยว เราก็อยากจะได้รีวิวจากคนที่ไปมาแล้วจริง ทําจริง มีประสบการณ์จริง เวลาทํา SEO หรือเขียนคอนเทนต์ให้ติดหน้าแรก Google เนี่ย ก็คิดเหมือนกันแบบนี้แหละ

Authority เป็นแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ

ตัว A (Authority)​ เนี่ยเราดูกัน รายเว็บไซต์ คือดูว่าเว็บไซต์เนี่ย รอบรู้ไหม น่าเชื่อถือหรือเปล่า เหมือนแบบ เรื่องนี้ต้องถามคนนี้เลย เรื่องนี้ดูแบบ คนนี้แหละเป็นแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการได้ เหมือนเป็นกรมกระทรวงของเรื่องนี้ได้ ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ต้องคิดถึงเรา อย่างถ้าพูดถึง SEO ก็คิดถึง SEO โบ๊ะบ๊ะสไตล์ by Chalakorn Berg (ขายของเลย)

เช่น Elon Musk เป็นคนดังเลยใช่ปะ เกือบทุกคนในโลกรู้จักคนนี้ แต่ว่าเราจะไปถามเขาทุกเรื่องมันก็ไม่ได้ ถามเขาเรื่อง Tesla, Space x, Twitter x แบบนี้ก็คงได้ แต่ถ้าไปถามเขาเรื่องแมว เขาก็คง หน่านิ? มันไม่ได้ ไม่เกี่ยวข้องกันใช่ไหม

ดังนั้น Authority ก็เลยเป็นการทําให้คนจําเราได้เป็นเรื่องๆ ไป

Trust เกิดขึ้นได้ เมื่อผู้คนเชื่อใจคุณ

ทั้งหมด ที่เราคุยกันมาในวันนี้ ตัว E-E-A (Expertise – Experience – Authority)​ เนี่ย ทำงานร่วมกันแล้ว มันจะช่วยสร้าง Trust หรือความน่าเชื่อถือให้กับเว็บเรา ถ้าเราพูดเรื่องที่เรารู้มีประสบการณ์ทํามาแล้ว พูดเรื่องนั้นอยู่บ่อยบ่อยต่อเนื่อง เราก็จะสั่งสมความรู้ ความน่าเชื่อถือของตัวเองไปเรื่อยเรื่อย ตัวเว็บเราก็จะดูน่าเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยเรื่อย แล้วสุดท้ายเนี่ยเราก็จะเป็นแหล่งคอนเทนต์ที่กูเกิลไว้ใจเอาไปเสนอให้คนได้ดู แล้วก็เป็นแหล่งที่คนเข้ามาดูแล้วเขาเชื่อว่า เขาจะเอาไปตัดสินใจเรื่องที่สําคัญในชีวิตเขาได้ เขาจะซื้อของอันนี้ เขารู้ได้ว่า เขาจะไม่เสียดายเงิน เพราะเขาเชื่อเรา

8 เทคนิค เพิ่ม E-E-A-T ให้เว็บไซต์และคอนเทนต์

1. เขียนคอนเทนต์โดยคนที่มีความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นจริงๆ

Expertise และ Experience นี่เราดูกันรายคอนเทนต์นะคะ หมายความว่า ทุกๆ คอนเทนต์ที่เราเขียนออกมาเนี่ย ให้เขียนโดย คนที่รู้เรื่องนั้น ถ้าเราเขียนเอง เว็บเราเอง เราก็เขียนเรื่องที่เรารู้ออกมา


เมเคยไปสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งนึงค่ะ แล้วก็ให้นักเรียนยกมือว่า ใครคิดว่าตัวเองมีเรื่องที่เก่งและเล่าได้บ้าง ไม่มีคนยกมือเลย แต่หลังจากทํา workshop เสร็จนะ มี post-it เต็มกระดาน เป็นหัวข้อที่เค้าสามารถเล่าได้เลยตอนนั้น ดังนั้นแล้วเนี่ย เรื่องที่มัน อาจจะดูเล็กน้อยสําหรับเรา มันอาจจะเป็นประโยชน์สําหรับคนอื่นก็ได้ เราก็ทำเว็บ ทำคอนเทนต์ แล้วก็เล่ามันออกมานะ :))

ตังเม – SEO โบ๊ะบ๊ะสไตล์ by Chalakorn Berg

2. ใช้แหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ

ถ้าเราไม่ได้ทำงานในประเด็นที่เราเชี่ยวชาญมาก เช่น เราทํางานในบริษัทรถยนต์ แต่ว่าเราอาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องยนต์มากเนี่ย เราก็พยายามอ้างอิงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เอา Quote คําพูดจากคนที่น่าเชื่อถือ มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ ใช้เอกสาร ข้อมูล อ้างอิงจากแหล่งน่าเชื่อถือ มีที่มาที่ไป จะพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ก็เอาแหล่งงานวิจัยมาบอกด้วย ก็จะดูไว้ใจได้มากขึ้น

3. ให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยรีวิวคอนเทนต์

ถ้าเราไม่ได้เชี่ยวชาญเอง ต่อให้เราแบบอ่านจากแหล่งอ้างอิงมาแล้ว ก็ไม่รู้เข้าใจถูกหรือเปล่านะ ดีที่สุดนะคะ คือให้หาคนที่เชี่ยวชาญ มารีวิวงานนั้น อย่างทุกวันนี้คอนเทนต์ภาษาอังกฤษจะเห็นแบบนี้เยอะเลย คือให้คนที่เป็นคุณหมอมารีวิวคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอีกที อย่างตัวอย่างที่เมเอามา เป็นเรื่องวิตามินซีในเด็ก เมลอง search แล้วเจออันนี้ขึ้นมาบนสุดเลย จะเห็นว่าเขียนด้วยนักเขียนทั่วไป + ระบุว่ารีวิวโดยคุณหมอ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางเด็กโดยเฉพาะ

ตัวอย่างการใช้ผู้เชี่ยวชาญรีวิวจาก Babycenter
ตัวอย่างการใช้ผู้เชี่ยวชาญรีวิวจาก Babycenter

4. เพิ่ม Authority ให้กับเว็บไซต์ ด้วยการทำคอนเทนต์ไปทีละเรื่อง

Authority เกิดได้ด้วยการทำคอนเทนต์ในเว็บไซต์ให้เชี่ยวชาญไปทีละเรื่อง เช่น ถ้าเราจะเขียนเรื่องแม่และเด็ก เราก็เจาะเรื่องนั้นไป เขียนเรื่องเทคโนโลยีแล้ว ก็เจาะเรื่องเทคโนโลยีไป ไม่ใช่ว่าเราทําเว็บเทคโนโลยีอยู่ดี ๆ ไปรีวิวผ้าม่าน รีวิวครัวซองต์ หม้อ ไห กระทะ อะไรแบบนี้มันนอกเหนือจากประเด็นหลักเกินไป คอนเทนต์พวกนั้น ก็จะดูไม่น่าเชื่อถือเท่ากับคอนเทนต์กลุ่มเทคโนโลยีที่เราพูดถึงบ่อย

Tips: ถ้าเป็นเว็บข่าวที่มีคอนเทนต์หลากหลาย ก็พยายามจัดหมวดหมู่คอนเทนต์ให้มันอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน ไม่กระจายมั่วไปหมด

5. เขียนคอนเทนต์อย่างมีจรรยาบรรณ

เขียนคอนเทนต์โดยยึดหลักจรรยาบรรณแบบนักข่าวเสมอ สื่อสารด้วยความถูกต้องตรงไปตรงมาไม่เอนเอียง พวกนี้กูเกิลก็เอามาดูความน่าเชื่อถือของเว็บนั้นนั้นเหมือนกัน ถ้าเราเขียนข่าวแบบเรียกกระแส ไม่มีหลักการ ก็จะดูไม่น่าเชื่อถือไปทั้งเว็บเลย เหมือนเรารู้จักคนที่พูดเก่ง แต่หลอกหลวง มีแต่น้ำ พอเวลาผ่านไปเราก็จะเรียนรู้ได้ และเลิกเชื่อคนนั้น

6. เพิ่ม Authority ด้วย Backlink คุณภาพสูง

อีกอย่างนึงที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ เพิ่มตัว Authority ได้ คือการสร้างลิงก์คุณภาพสูง หลักคิดของมันคือ ถ้าคนอื่นพูดถึงเราในเรื่องนี้เราก็จะดูน่าเชื่อถือไปด้วย เหมือนถ้าเราไปสมัครงาน แล้วมีคนในพูดถึงแนะนำเรา เราก็จะดูน่าเชื่อถือไปด้วย เหมือนกันเลยในเว็บไซต์เนี่ย ถ้ามีเว็บที่น่าเชื่อถือพูดถึงเรา เราก็จะดูดีไปด้วย

อย่างสมมติว่าเราเป็น คนรีวิวอุปกรณ์กีฬา แล้วมีเว็บการกีฬาแห่งประเทศไทยลิงก์มาหาเราว่า เว็บเนี้ยเขียนรีวิว
รองเท้ากีฬาได้ดีเลย ดูน่าสนใจ น่าเชื่อถือ เว็บเราก็จะดูน่าเชื่อถือไปด้วยนะคะ

ทั้งนี้เนี่ยเรื่องการสร้างลิงก์กลับมาที่เว็บเราเนี่ย เราเรียกมันว่า Backlink ซึ่งต้องระวังมากๆ เลยนะ คือมันมีการทำสแปมสายเทาเยอะ ถ้าเราใช้วิธีที่ผิดกฎ เช่น ซื้อ Backlink มา มันก็มีโอกาสที่จะโดนจับสแปม ลงโทษได้เหมือนกัน (Google ปรับให้อันดับหาย) เหมือนนักการเมืองซื้อเสียงแล้วโดนจับได้น่ะ จะส่งผลเสียกับเว็บในระยะยาว ไม่คุ้มเลย

ก่อนจะตัดสินใจใช้บริการซื้อลิงก์จากที่ไหน ก็ตรวจสอบให้ดีก่อนว่าเป็นลิงก์คุณภาพดี ไม่ใช้วิธีที่ผิดกฎ เพราะบางผู้ให้บริการก็เป็นเหมือนผู้ช่วยในการติดต่อเว็บใหญ่ๆ เพื่อลงคอนเทนต์ของเรา เหมือนการทำ PR น่ะ แต่บางที่ก็ใช้วิธีสายเทาลิงก์มันเลยไม่มีคุณภาพ ต้องให้แน่ใจก่อนว่าเรามีความรู้ เลือกลิงก์เป็น เข้าใจได้ว่าลิงก์แบบไหนที่ดี ก่อนที่จะจ้างคนจัดการลิงก์ให้

ตังเม – SEO โบ๊ะบ๊ะสไตล์ by Chalakorn Berg

7. ใส่ข้อมูลติดต่อบนเว็บไซต์ให้ชัดเจน

ลองคิดดูว่าถ้าเราจะซื้อประกัน แล้วเว็บนึงมีแค่เบอร์โทรศัพท์ ในขณะที่อีกเว็บมีไลน์ Facebook อีเมล ที่อยู่ เบอร์โทร แผนที่ให้เสร็จสรรพ เราก็คงเชื่อเว็บที่มีข้อมูลการติดต่อมากกว่า เพราะถ้าเกิดปัญหาอะไรเรารู้ว่าจะติดต่อที่ไหน และมีหลายช่องทางให้เราไปตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้

8. สร้างโปรไฟล์ของนักเขียน

อย่างเมเขียนคอนเทนต์เรื่อง SEO ด้วยชื่อ Chalakorn Berg ก็จะทำให้ Google ค่อยๆ เก็บข้อมูลไปกว่า ชื่อนี้เชี่ยวชาญคอนเทนต์เรื่องนี้ คนเข้ามาอ่านแล้วได้ประโยชน์ไปจริงๆ ข้อมูลน่าเชื่อถือแหล่งอ้างอิงดี ในขณะเดียวกัน การใส่ชื่อนักเขียนท้ายบทความ ก็ทำให้คนอ่านรู้ว่าคอนเทนต์นี้เขียนโดยคนจริงๆ มีที่มาที่ไป และได้ข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเข้าใจว่า ทำไมคนนี้ถึงเล่าเรื่องนี้ให้เราฟังได้

ตัวอย่างการใส่ข้อมูลนักเขียนท้ายบทความของ SEO โบ๊ะบ๊ะ
ตัวอย่างการใส่ข้อมูลนักเขียนท้ายบทความของ SEO โบ๊ะบ๊ะ

Tips: การเพิ่ม E-E-A-T ในคอนเทนต์รีวิว และ e-Commerce

Content รีวิวเนี่ยสําคัญมาก ๆ เลย ที่จะต้องเล่าจากประสบการณ์จริง สิ่งที่จะทําให้ Google เข้าใจได้ว่า อันนี้เรามีประสบการณ์จริงได้ลองใช้จริงๆ แล้วเนี่ย คือ การใช้รูปที่เราถ่ายเอง วิดีโอที่เราถ่ายเอง เขียนคําอธิบายเอง ยิ่งเว็บที่ขายสินค้าที่มีขายหลาย ๆ ที่ สิ่งที่จะทําให้เราโดดเด่นได้คือเขียนคําอธิบายเอง ไม่ได้ก๊อปจากเว็บทางการที่ใคร ๆ ก็ก๊อปได้มา แต่ว่าเขียนเล่าว่าเราใช้แล้ว หรือว่าลูกค้าของเราใช้แล้วเนี่ยเค้าบอกว่ายังไงบ้าง

เล่าทั้งข้อดีข้อเสีย ของทุกอย่างมันมีข้อดีข้อเสียหมดแหละ แต่ว่าในฐานะนักรีวิวที่ดี เราต้องบอกได้ด้วยว่าสิ่งเหล่านี้เหมาะกับใคร มันอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคนก็ได้ แต่มันต้องมีบางคนที่น่าจะใช้สิ่งนี้ได้ โชว์ความเชี่ยวชาญด้วยการบอกว่า เปรียบเทียบกับรุ่นก่อนแล้วเป็นยังไง รุ่นนี้ใกล้เคียงกันเป็นยังไง

นอกจากนี้ค่ะ เมว่าอีกส่วนหนึ่งในความจริงใจก็คือบอกไปว่า คนอ่านจะไปหาซื้อได้ที่ไหนบ้าง หรือว่าถ้าเป็นการใส่ Link Affiliate ที่ ถ้าคนคลิกลิงค์นี้แล้วไปซื้อ แล้วเราจะได้ค่าตอบแทนเนี่ย ก็ใส่โน้ตเอาไว้หน่อย แบบบอกไปเลยอย่างจริงใจ คนส่วนใหญ่เมว่าเขาไม่ซีเรียสหรอก เขาก็ไม่ได้เสียอะไรนิ อาจจะได้ส่วนลดเพิ่มด้วยถ้าใช้ลิงก์ของเรา

คิดแบบมนุษย์ เพื่อเพื่อนมนุษย์

ตัวอย่างการทำงานร่วมกันของ Algorithm และ Qualita Raters
ตัวอย่างการทำงานร่วมกันของ Algorithm และ Qualita Raters

คนเราชอบจะคิดว่าการทํา SEO เนี่ย มันเป็นการอ้างอิงจากคอมพิวเตอร์ซะเยอะใช่ปะ เราจะทํายังไงให้ติดหน้าแรก Google เป็นงานสายเทคโนโลยี ก็คือต้องทำให้คอมรักเราหรือเปล่า จริงๆ แล้วค่ะ Google เนี่ยเค้าใช้ AI จัดอันดับก็จริง เพราะว่าปัจจัยในการจัดอันดับเนี่ย มันมีเยอะมากเลยแบบหลายหมื่นอัน (จากล่าสุดที่หลุดออกมานะคะ) แต่ว่าก่อนที่เขาจะปล่อยอะไรออกมาเนี่ย เขาก็มีทีมที่เป็นคนจริงๆ ดูอยู่ค่ะ เรียกว่า Quality Raters

ดังนั้นแล้วก็อาจจะมีทฤษฎีอะไรขึ้นมา เช่น ในเว็บที่เป็นสีเขียวเนี่ยดูน่าเชื่อถือมากกว่าในเว็บที่เป็นสีฟ้า เขาก็ใส่ทฤษฎีนี้เข้าไป (หรืออาจจะเป็นอะไรที่ AI ได้เรียนรู้มาว่า เอ้ย อันเนี้ยมันเป็นปัจจัยที่ใช้จัดอันดับแล้วทําให้ผลการค้นหาดี) เขาก็ไปปรับระบบจัดอันดับผลการค้นหาดันเว็บสีเขียวขึ้นมา เสร็จแล้วเขาก็จะมีทีมที่เรียกว่า Quality Raters คอยดูผลการค้นหาอีกทีว่าที่บอกว่าดีมันดีจริงหรือเปล่า ถ้าคนดูแล้วแบบ ไม่เวิร์ค เว็บสีเขียวไม่เกี่ยวกับคุณภาพผลการค้นหาเลย เขาก็ตีกลับไปให้คอมทํามาใหม่ วนอยู่อย่างนี้จนคิดว่าโอเคแล้ว เขาก็จะทำการอัปเดตระบบ และปล่อยออกมาในผลการค้นหาให้เราเห็นนะคะ ซึ่งผลการค้นหานี้มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เพราะว่าเขาทดสอบของใหม่อยู่เสมอ

ปล่อยออกมาใช้จริงแล้ว Google ก็จะดู User Metrics เพิ่มอีก เช่น คนคลิกเข้ามาแล้วอ่านจริงหรือเปล่า ได้คำตอบไหม ต้องไปเสิร์ชเพิ่มอีกหรือเปล่า แล้วก็ทำการอัปเดตต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผลการค้นหาออกมาดีและเป็นปัจจุบันที่สุดอยู่ตลอดค่ะ ดังนั้นถ้าเห็นเว็บคุณภาพต่ำ ดูสแปม ขึ้นมาชนะเรา ก็ไม่ต้องกังวล เพราะว่าถ้าคนคลิกไปดูแล้วไม่อิน เดี๋ยวเว็บพวกนี้ก็จะอันดับตกหายไปเอง

ปีนึงนี่ Google อัปเดตหลายครั้งเลยนะคะ โดยจะมีอัปเดตใหญ่ใหญ่ประมาณสิบครั้ง เราติดตามอัปเดตจาก Google พวกนี้บ้างก็ได้ แต่ว่าก็ไม่จําเป็นต้องกังวลกับติดตามมาก ถ้าเราทําถูกหลักอยู่แล้ว

ตังเม – SEO โบ๊ะบ๊ะสไตล์ by Chalakorn Berg


Tips: ตัวไกด์ไลน์ที่ Quality Raters ใช้อ้างอิงเพื่อวัดคุณภาพของผลการค้นหานี่ มีสองร้อยกว่าหน้าเลยนะ โดยหลักแล้วมันก็ที่เราคุยกันนี่แหละค่ะ ว่าเป็นเว็บที่ดูน่าเชื่อถือ ไม่แสปม เป็นเว็บที่เรากล้าใช้เงิน กล้าจ่ายบัตรเครดิต กล้าเชื่อข้อมูลนี้ แล้วเอามาตัดสินใจในชีวิต เมสรุปมาให้แล้วว :))

สรุปเรื่อง E-E-A-T ที่สำคัญและต้องใช้เวลา

E-E-A-T ต้องคิดแบบคน ไม่ใช่จะเอาชนะคอม
E-E-A-T ต้องคิดแบบคน ไม่ใช่จะเอาชนะคอม

หนึ่ง E-E-A-T ที่เป็นไกด์ไลน์สําคัญที่สุดในการทํา SEO เนี่ยค่ะ สําคัญที่สุดคือการทําให้ คนไว้ใจเรา ยิ่งคอนเทนต์สําคัญกับชีวิต พวกการเงิน กฎหมาย ข่าวสารบ้านเมือง ที่มันเป็นเรื่องหลักในชีวิตเนี่ย (ในวงการเรียกว่า YMYL – Your Money Your Life หรือคอนเทนต์ที่สำคัญกับชีวิตมากๆ) ยิ่งต้องโฟกัสกับการทํา E-E-A-T ให้แข็งแรงมากๆ เลยนะคะ เขียนเรื่องอะไรก็ให้มั่นใจก่อนว่า เรามีความรู้ มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้ หรือถ้าทําไม่ได้ก็ให้หาคนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นมาช่วยรีวิว

สอง เรื่องนี้ต้องใช้เวลา เหมือนคนกว่าจะสั่งสมประสบการณ์ ให้น่าเชื่อถือได้ก็ต้องใช้เวลาใช่ไหม เราโฟกัสกับการทํา E-E-A-T นี้ไปเรื่อยเรื่อยเนี่ย แล้วเว็บเราก็จะดูน่าเชื่อถือมีความเชี่ยวชาญมากขึ้นเรื่อยเรื่อยค่ะ จนเมื่อกูเกิลเขาอัปเดตผลการค้นหา เข้าใจแล้วว่าเว็บเราเก่งเรื่องอะไร เราก็จะทําคอนเทนต์ได้ชนะ AI แบบง่ายๆ เลย แล้วก็จะชนะเว็บใหญ่ๆ ได้ด้วย เพราะว่าเรามีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในเรื่องนั้น

สาม สุดท้ายแล้วเนี่ยค่ะ เราต้องคิดแบบมนุษย์นะ คือต่อให้เราจะใช้คอม Algorithm ในการจัดอันดับ สุดท้ายแล้วก็มีคนตรวจก่อนอยู่ดี และคนที่อ่านคอนเทนต์เราก็คือเพื่อนมนุษย์เราเนี่ยแหละเนาะ เวลาเราจะดูว่าคอนเทนต์นี้มันดีหรือยัง ลองคิดว่าเราจะกล้าส่งให้ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา คนที่ทํางาน หัวหน้า เพื่อนพ้องเราอ่านหรือเปล่า แล้วเขาจะเอาข้อมูลนี้ไปใช้ตัดสินใจในเรื่องสําคัญได้ไหม

สี่ อย่าทําคอนเทนต์ที่เน้นปริมาณราคาถูก กำหนดว่าคอนเทนต์จําเป็นจะต้องปล่อยวันละเท่านั้นเท่านี้ ไม่จําเป็นเลยนะคะ แต่ว่าเราทํา content ที่เน้นคุณภาพออกมาให้ดีที่สุดก่อน แล้วค่อยใช้หลักการ SEO อื่นๆ มา Optimize หรือว่าปรับให้มันดีกับคอม เพื่อให้ Google เข้าใจ content เราให้ดีที่สุด และมีโอกาสไปติดอันดับดีๆ ได้มากที่สุดค่ะ

จบกันไปแล้วนะคะกับ E-E-A-T ไกด์ไลน์ที่สําคัญที่สุดในการทํา SEO ในยุคนี้ หวังว่าทุกคนจะได้ประโยชน์ไปนะคะ เมตั้งใจเล่าให้เข้าใจง่าย แล้วก็มีเกร็ดที่เอาไปใช้ได้ทันทีเหมือนเคยเลย ถ้าชอบไม่ชอบมีข้อแนะนําติชมยังไง หรืออยากฟังเรื่องอะไรเพิ่ม คอมเมนต์คุยกันได้เลย

เมหวังว่าคุณจะใช้โอกาสนี้ แชร์คอนเทนต์นี้ต่อไปให้กับคนที่ น่าจะได้ประโยชน์จากมันนะคะ <3

อยากเรียน SEO จริงจัง แบบเข้าใจง่าย ใช้ได้ทันที ก็คลิกมาดูได้ที่นี่ หรือติดต่อมาร่วมงานกันได้โดยตรงที่นี่ สำหรับวันนี้ บ๊ายบายค่ะ :))

Share:FacebookX
Written by
Chalakorn Berg
Chalakorn Berg