Home » Marketing » SEO » ว่าด้วย Keyword Density เพราะ % สัดส่วนคีย์เวิร์ดที่ดี ไม่มีอยู่จริง

ว่าด้วย Keyword Density เพราะ % สัดส่วนคีย์เวิร์ดที่ดี ไม่มีอยู่จริง

Share:FacebookX

เมื่อก่อนอาจจะใช่ แต่ในทุกวันนี้ การนับจำนวนคีย์เวิร์ดในคอนเทนต์ (Keyword Density) กลับเป็นเรื่องที่ไม่ได้สลักสำคัญเท่าไหร่นัก คนในวงการระดับโลกต่างก็ยืนยันแบบนี้ รวมถึงทางคนที่ดูแลเรื่อง Search อย่างเป็นทางการจาก Google ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันไม่แตกแถว ว่าให้เลิกนับ!

รู้จักกับ Keyword Density

Keyword Density คือการพยายามหาสัดส่วนทองคำ ว่าในบทความยาว 100 คำ จะต้องมี “คีย์เวิร์ด” หลักกี่คำถึงจะติดหน้าแรก Google ได้ ซึ่งหลายคนมักเชื่อกันว่าตัวเลขมหัศจรรย์นี้คือ 2% หมายความว่าถ้าบทความยาว 1000 คำ ก็ต้องมีคำคีย์เวิร์ดหลักของเรา ปลายุท เอ้ย ปลากัด เอ้ย ปรากฏอยู่ในบทความนั้น 20 คำ

แวะถอนหายใจให้กับมุกหนึ่งเฮือก – แฮร่

(SEO Dictionary: keyword = คำที่อยากให้คนพิมพ์ใน Google แล้วมาเจอเว็บเรา)

การวัดค่า Keyword Density

การใช้ Keyword Density เป็นสิ่งง่ายๆ ที่เราวัดได้ในบทความ เครื่องมือ SEO หลายตัว ออกแบบมาเพื่อวัด % Keyword Density เช่น Page Optimizer Pro ทำงานโดยการถามเราว่าคีย์เวิร์ดหลักของเราคืออะไร (อยากติดหน้าแรก Google คำไหน) แล้วก็ไปสแกนหน้าเว็บไซต์ของคู่แข่งที่ติดหน้าแรกในคีย์เวิร์ดเป้าหมายของเราอยู่ก่อน เพื่อบอกว่าค่าเฉลี่ยต่างๆ ที่วัดได้ ของเว็บพวกนี้เป็นยังไง เช่น บอกเราว่าเค้ามีความยาวคอนเทนต์เฉลี่ยกันกี่คำ แล้วมีคีย์เวิร์ดหลักในนั้นกี่คำ รวมไปถึงพวกลิงก์ ความยาวชื่อบทความ และอื่นๆ อีกเพียบ เป็นแนวทางปรับเว็บ ซึ่งก็ดูน่าสนใจ และมีเหตุผลของมันอยู่

Keyword Density สำคัญกับการทำ SEO แค่ไหน?

การทำ SEO โดยการโฟกัสกับ Keyword Density (อาจ) ให้ผลดีอย่างมากก็แค่ระยะสั้นเท่านั้น ทาง Google บอกแล้วว่านี่คือความเชื่อแบบเก่า เครื่องมือต่างๆ ก็มักมีข้อจำกัดในการสแกนภาษาไทย ทำให้เวลาและความพยายามที่จะใช้ลงไปเพื่อปรับให้สัดส่วนของคีย์เวิร์ดลงตัว ไม่ค่อยคุ้มกับผลลัพธ์ทาง SEO ที่ได้มากนัก

แน่นอนว่าบริษัทเทคโนโลยีอันดับต้นๆ ของโลกอย่าง Google มีระบบ AI ที่ซับซ้อน แบบที่จัดการหน้าแสปมได้วันละหลายพันล้านหน้า แค่ปัจจัยการจัดอันดับผลการค้นหาเองก็มีหลายหมื่นอัน เราจึงไม่จำเป็นต้องสนใจกับตัวเลขยิบย่อยมากนักหากไม่จำเป็น แล้วเอาเวลามาโฟกัสกับเรื่องที่สำคัญที่สุดดีกว่า

ทำยังไงล่ะถึงจะเป็นเว็บที่ Google รัก?

ถ้าเรามาดูกันจริงๆ จะเห็นว่า สิ่งที่ Google บอกอย่างตรงไปตรงมาทุกครั้งในทุกอัปเดต ย้ำซ้ำๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และตั้งให้เป็น Mission สูงสุดของบริษัท คือการเชื่อมโยงผู้คนกับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ดีที่สุด และคำที่เราเห็นบ่อยที่สุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็คือ EEAT (Expertise, Experience, Authority, Trust)

EEAT สรุปง่ายๆ ก็คือทำคอนเทนต์ในเรื่องที่เรารู้จริง มีประสบการณ์จริง เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนอ่าน

อย่างที่เมเคยเล่าไปใน Facebook จะเห็นว่าเว็บไซต์เสพย์สากล ทำคอนเทนต์ได้ตรง EEAT และ ตอบโจทย์ Search Intent มีประโยชน์กับคนอ่าน จนทำ SEO ชนะเว็บสุดแข็งแกร่งอย่างวิกิพีเดียได้เลยล่ะ

ตัวอย่างภาพจากเว็บไซต์เสพย์สากล ชนะ Wikipedia ไปด้วย EEAT ที่ดี และไม่ต้องสนใจเรื่องคีย์เวิร์ด
เว็บไซต์เสพย์สากล ชนะ Wikipedia ไปด้วย EEAT ไม่ต้องสน Keyword Density!

สรุปเรื่อง Keyword Density

สุดท้ายแล้ว หัวใจของการทำ SEO ก็คือการทำคอนเทนต์ที่ออกมาจากหัวใจของมนุษย์หนึ่งคน เพื่อที่จะส่งต่อคุณค่าออกไปให้เป็นประโยชน์และติดอยู่ในหัวใจของมนุษย์อีกคน ในเวลาที่เค้าต้องการ

แล้วถ้าเราทำ SEO ได้อย่างมีกลยุทธ์ก็จะช่วยให้เห็นผลลัพธ์ทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ทั้งหมดจากความรู้และประสบการณ์จริงที่เรามี อบอุ่น เรียบง่าย เข้าใจได้ไม่ยาก

ในโลกของ Social Media แสนหวือหวา เต็มไปด้วยคอนเทนต์ที่มักหายไปจากความทรงจำใน 24 ชั่วโมง ออกแบบมาเพื่อช่วงชิงเวลาของมนุษย์ไปผูกติดอยู่กับแพลตฟอร์มให้มากที่สุด

Google เลือกที่จะทำให้คนใช้เวลากับตัวเองน้อยสุด ด้วยการได้คำตอบที่น่าเชื่อถือที่สุด เป็นประโยชน์ที่สุด อย่างเร็วที่สุด ไม่ยัดเยียด แต่รอเงียบๆ คอยช่วยเหลือในเวลาที่เราต้องการ เหมือนที่ตั้งใจทำมาตั้งแต่วันแรกๆ แม้จะผ่านมาหลายสิบปีๆ จนมาถึงยุค AI ก็ยังคอยตามหาคอนเทนต์คุณภาพ มาเติมในห้องสมุดของโลกเราเสมอ

จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่ Google จะได้เป็นเว็บไซต์อันดับหนึ่งของโลกยั่งยืนนาน ส่งคนเข้าเว็บไซต์มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง และเป็นช่องทางเสพข้อมูลที่ได้รับความไว้ใจจากผู้คนมากที่สุด

เขียนไปเขียนมา เหมือนจะตกหลุมรัก SEO เข้าอีกครั้งแล้วล่ะ 🤍

หวังว่าคอนเทนต์นี้จะเป็นประโยชน์ จนคุณอยากแชร์ต่อให้คนอื่นได้ประโยชน์ไปเช่นกัน 🙂
ชลากร เบิร์ก (ตังเม)


รับข่าวสารโดยตรงผ่านทางอีเมลได้ที่: https://coursewaitlist.paperform.co/

ดูคอนเทนต์ความรู้ช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติมที่: https://go.chalakornberg.com/m/seo

Share:FacebookX
Written by
Chalakorn Berg
Chalakorn Berg