SEO เป็นเรื่องไม่ซับซ้อน แต่ก็ไม่ง่าย เมเลยทำ “WORKING IN SEO” เดอะ ซีรีส์ขึ้นมา เพื่อเป็นคู่มือสำหรับการทำงานสาย SEO จากประสบการณ์ทำงานจริงของเม ไม่ว่าจะเพิ่งเรียนจบ อยากต่อยอดสกิลจากสายงานที่ทำอยู่ ต้องการเพิ่มรายได้ ยอดขายให้กับธุรกิจ อยากเริ่มรับงานฟรีแลนซ์ หรือวางแผนเปลี่ยนสายงาน เมอยากจะให้ทุกคนมีคู่มือนี้เก็บไว้ให้อุ่นใจ เป็นแนวทางก้าวเดินไปบนเส้นทางนี้ไปด้วยกันค่ะ สำหรับบทความนี้เป็น EP แรก มาคุยกันเรื่องเครื่องมือที่ใช้ทำ SEO ให้เราติดหน้าแรก Google ไปด้วยกันค่ะ ❤️
เครื่องมือทำ SEO
ก่อนจะเริ่มใช้เครื่องมือ เมอยากจะย้ำก่อนว่าเครื่องมือต่างๆ คือตัวช่วยให้สิ่งที่เราอยากจะทำ ทำได้ง่ายขึ้นค่ะ เช่น ถ้าเราจะแบ่งกระดาษออกเป็นสองส่วน แบ่งด้วยมือก็ได้ แต่ถ้ามีคัตเตอร์หรือกรรไกรเป็นเครื่องมือช่วย ก็จะทำได้ง่ายขึ้น และดีขึ้น
หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือเท่ๆ แพงๆ ถึงจะทำ SEO ได้ และก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อและทำตามที่เครื่องมือบอกทั้งหมดค่ะ เราใช้เป็นแนวทาง เป็นไอเดีย และเป็นตัวช่วยเท่านั้น
ในบทความนี้เมจะเน้นมาที่ SEO Tools ที่ฟรี ตั้งแต่เครื่องมือที่ใช้ทำคอนเทนต์ ตัวช่วยหา Backlink และ WordPress Plugins เลย เป็นเครื่องมือทำ SEO ที่เมใช้จริงๆ และอยากเอามาแชร์กับทุกคนค่ะ :))
สนใจเรื่อง SEO อยากรู้เพิ่มเติม เมมีคอร์สที่จะเปิดแค่ปีละ 2-3 ครั้ง แชร์จากประสบการณ์จริงของเมแบบเข้าใจง่าย ทำตามได้เลย ลองแวะมาดูรายละเอียดคอร์ส SEO ได้ที่นี่ค่ะ
เครื่องมือทำ SEO ฉบับมือโปร
Ahrefs
Ahrefs เป็นเครื่องมือทำ SEO ที่ค่อนข้างจะครบถ้วน คือทำได้ตั้งแต่ Technical Audit เว็บ, เช็ก Backlink, ทำ Keyword Research, ดู Domain Rating, เปรียบเทียบเรากับคู่แข่ง, เช็ก Ranking, หาคีย์เวิร์ดทำ YouTube, หา Secondary/Long-tail keywords, รีเสิร์ชคอนเทนต์ ฯลฯ
นอกจากนี้ยังเอาไว้ส่องคู่แข่งได้แบบละเอียดเลยค่ะ ตั้งแต่เค้ามีลิงก์มาจากไหนบ้าง หน้าไหนติดอันดับดี ติดอันดับคำไหนบ้าง อันดับเปลี่ยนแปลงยังไง ดูได้ละเอียดรายวันไปเลย
ตัว Ahrefs เป็นเครื่องมือที่เสียเงินค่ะ เริ่มต้นที่ 99USD และถ้าทำ SEO จริงจังก็อาจจะต้องใช้ตัว 199USD แต่!!! เค้ามีเครื่องมือให้ใช้ฟรีเพียบเลยค่ะ เราเอามาทำ Keyword Research หาคีย์เวิร์ด YouTube ดู Backlink พวกนี้ใช้ตัวฟรีได้หมดเลย
ถ้าเพิ่งเริ่มทำ SEO หรือ โปรเจ็คไม่ใหญ่มาก ใช้ตัวฟรีก็พอแล้วค่ะ คลิกดูรีวิว Ahrefs ทั้งตัวฟรีและเสียเงินแบบละเอียดได้ที่นี่
ตัวทางเลือกอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันคือ Semrush ค่ะ ซึ่งฟีเจอร์เยอะมากกก และเมชอบตัว Backlink Audit ของเค้าค่ะ แต่โดยรวมแล้วเมชอบตัว Ahrefs มากกว่า ฟีเจอร์ไม่เท่า แต่เหมือนคัดมาเน้นๆ และใช้ง่ายค่ะ
อีกตัวที่อยู่ในประเภทเดียวกันคือ Moz ค่ะ เมเคยลองแล้วไม่ค่อยคลิก รู้สึกข้อมูลสู้ Semrush/Ahrefs ไม่ได้ แต่เป็นความรู้สึกส่วนตัวเองค่ะ ลองใช้แล้วมาแชร์กันได้นะคะ :))
เครื่องมือทำ SEO บนเว็บไซต์
WordPress
WordPress คือแพลตฟอร์มในการทำเว็บไซต์ค่ะ สำหรับ SEO แล้ว เราจะเน้นทำบนเว็บไซต์เป็นหลัก เพราะเราสามารถ Optimize ปรับนั่นนี่ให้ดีกับ Google ได้หลายส่วน เทียบกับ Social Media เราทำได้หลักๆ แค่โพสต์เท่านั้น
WordPress เป็นแพลตฟอร์มที่คนนิยมมากที่สุด เว็บไซต์เกือบครึ่งนึงของโลกใช้ WordPress ขนาด Google ยังต้องมีทีมข้างใน เอาไว้ดูก่อนปล่อยอะไรออกมาว่าใช้กับ WordPress ได้หรือเปล่า
เมว่า WordPress เป็นเครื่องมือกลางๆ ที่ใช้ได้ดี ไม่ง่ายขนาดจับวาง แบบ Wix แต่ก็ไม่ยากมาก สามารถทำตามได้ อย่างเว็บเมเองอันนี้เมก็ทำเองแบบง่ายๆ ค่ะ แต่มีความยืดหยุ่นมากกกกก ทำอะไรได้เยอะ ปรับได้แทบจะทุกอย่าง แถมมีปลั๊กอินเสริม เหมือนเป็นค่าพลังที่ช่วยให้เว็บเราทำนั่นนี่ได้มากขึ้นค่ะ
เช่น เรามีเว็บแล้ว อยากให้คนซื้อของใส่ตะกร้าบนเว็บได้เลย เราก็โหลด WooCommerce มาใช้ หรืออยากให้มีปุ่มแชร์ไป Social Media ก็โหลดปลั๊กอินมาเสริมค่ะ
ตอนแรกอาจจะงงๆ หน่อย แต่เมว่าดีกว่าไปจ้างโปรแกรมเมอร์มาทำเว็บ แล้วเราไม่มีอิสระในการปรับแต่งควบคุมหลังทำเสร็จค่ะ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่มีสกิลทางด้าน Coding
แต่ถ้ายังไม่พร้อมใช้ WordPress ลองทำเว็บแบบง่ายๆ ก่อน ด้วย Wix หรือ Squarespace ก็เป็นเครื่องมือทำเว็บที่โอเคเลยค่ะ หน้าตาดี ทำง่าย เร็ว และเรื่อง SEO ก็โอเค เมเคยลองเขียนเทียบ Wix VS WordPress เอาไว้ ลองมาอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่นะคะ
WordPress Plugins สำหรับการทำ SEO บน WordPress
WP Rocket
WP Rocket เป็นปลั๊กอินที่ช่วยเพิ่มความเร็วเว็บให้กับ WordPress ค่ะ ตัวนี้เสียเงินปีละ 49USD ต่อเว็บไซต์ (มีแพ็คเกจสำหรับหลายเว็บด้วย) เรียกว่าครบเครื่อง เร็วขึ้นจริง ช่วยเรื่อง Core Web Vitals ด้วย และที่สำคัญคือเว็บไม่พังค่ะ
ตัวปลั๊กอินความเร็วนี่เมลองมาหลายอันเลย ปัญหาที่เจอบ่อยๆ กับปลั๊กอินฟรีคือเว็บเจ๊งค่ะ เดี๋ยวมีปัญหาตรงโน้นนี้ รูปไม่โหลดบ้าง Layout พังบ้าง พอมาใช้ตัว WP Rocket แล้วจบเลย เป็นการแก้ปัญหาที่ดีสำหรับคนที่ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์แบบเมค่ะ
ตัวนี้เสิร์ชใน WordPress Plugins จะไม่เจอ ต้องไปโหลดบนเว็บเค้าแล้วมาอัปโหลดขึ้น WordPress เอง คลิกไปดู WP Rocket ได้ที่นี่นะคะ
Imagify
Imagify เป็นปลั๊กอินที่ช่วยย่อรูปค่ะ จะมีทั้งไก่ย่อ และหมูย่อ (หมูยอ!) การย่อรูปหรือการ Compress คือการทำให้รูปดูดี ชัด กว้าง ยาว เท่าเดิม แต่ขนาดของรูปที่ต้องมีการจัดเก็บ ประมวลผล และโหลดขึ้นมาเล็กลงค่ะ
พูดง่ายๆ คือรูปเราหน้าตาเหมือนเดิม แต่โหลดเร็วขึ้นนั่นเอง
ตัว Imagify ช่วยย่อรูปทั้งเว็บให้ได้ในคลิกเดียว เท่าที่ลองมาให้เว็บตัวเองและลูกค้ายังไม่เคยมีพังค่ะ ตัวอื่นๆ ที่คนพูดถึงบ่อยคือ Shortpixel ซึ่งเมลองแล้วก็โอเค แต่เมเคยเจอทำให้รูปบนเว็บลูกค้าหายไปสองเว็บพร้อมๆ กัน เมเลยระมัดระวังในการแนะนำคนอื่นมากขึ้นค่ะ
ตัว Imagify ยังช่วยแสดงผลรูปเป็น WebP ซึ่งเป็นสกุลใหม่ (แทนพวก PNG หรือ JPEG) เพื่อให้การแสดงผลบนเว็บเร็วขึ้นค่ะ ใช้คู่กับ WP Rocket เพื่อช่วยให้เว็บเราโหลดเร็วขึ้นคือดีเลย ถ้าสมัคร WP Rocket แล้ว เข้าไปเมนูคูปอง จะมีส่วนลด Imagify ให้ค่ะ จะได้ไม่ต้องเสียราคาเต็ม
Yoast SEO
Yoast SEO เป็นปลั๊กอินเรื่อง SEO ตัวดัง มีคนใช้หลายล้านเลยค่ะ หลักๆ คือช่วยให้เราปรับข้อมูลด้าน SEO พวก Meta Title, Meta Descriptions, Slugs, หรือ Schema Markup แบบเบื้องต้นได้ง่ายๆ ค่ะ
อีกอย่างคือเจ้านี่จะช่วยวิเคราะห์บทความของเรา ว่าถ้าจะทาเก็ตคีย์เวิร์ดนี้ อยากให้คนเสิร์ชคำนี้แล้วเจอหน้านี้ของเรา ต้องทำอะไรเพิ่มอีกนะ ใส่คีย์เวิร์ดเพิ่มตรงไหนดี ใส่ลิงก์อีกดีมั้ย อะไรแบบนี้ค่ะ ประเด็นสำคัญเลยคือ เครื่องมือพวกนี้เราใช้เพื่อทำสิ่งที่เราจะทำอยู่แล้ว ให้ง่ายขึ้นค่ะ อย่าไปเชื่อทั้งหมด ต่อให้ปรับจนเขียวก็ไม่ได้หมายความวาจะติดอันดับ หรือถ้าบทความของเรายังมีแจ้งเตือนแดงๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ติดอันดับค่ะ
ดูวิธีการใช้ Yoast SEO เพิ่มเติม
สำหรับตัวปลั๊กอินที่ใช้แทนกันได้คือ Rank Math ค่ะ ตัว Rank Math นี้ออกมาทีหลัง แต่ก็มีคนใช้ประมาณ 6 แสนคนได้แล้วค่ะ ฟีเจอร์ตัวฟรีจะเยอะกว่า ใส่ Focus Keyword ได้มากกว่า 1 คำ เมเห็นหลายคนรักตัวนี้มาก ส่วนตัวเมใช้ Yoast ค่ะ เค้ามีตัวฟรีทั้งคู่ ไปลองใช้กันดูได้นะคะ
เครื่องมือทำ SEO ฟรี จาก Google
Google My Business
Google My Business เป็นเครื่องมือที่เอาไว้สำหรับทำ Local SEO หรือการทำ SEO เฉพาะพื้นที่ค่ะ เราสามารถสร้างธุรกิจของเราบน Google My Business แล้วก็ไปใส่ข้อมูล ชื่อ การติดต่อ วันเวลาเปิดปิด อัปเดตโปรโมชัน สร้างโพสต์ต่างๆ ได้เหมือน Social Media เลย เวลาคนเสิร์ช Google ด้วยคำที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา หรือชื่อของธุรกิจเรา ก็จะเห็นตัวนี้ขึ้นมาแสดงผลในหน้าแรกค่ะ
ที่สำคัญคือยังปักหมุดให้คนมาร้านได้ง่ายๆ และมีที่ให้คนใส่รีวิวร้านด้วยค่ะ อย่างด้านล่างนี้ถ้าเสิร์ช SEO โบ๊ะบ๊ะ ก็จะเห็น Google My Business ของเมขึ้นมา ถ้าได้ประโยชน์จากคอนเทนต์เมไปบ้าง อย่าลืมแวะมากด 5 ดาวให้สึกจึ้กนะคะ :))
เมเคยไลฟ์สอนเรื่อง Google My Business กับ Local SEO นี้เอาไว้ ตามมาดูย้อนหลังได้ที่นี่นะคะ
Google Alerts
Google Alerts เป็นเครื่องมือ Social Listening แบบอย่างง่ายค่ะ เราสามารถเข้าไปตั้งเตือนได้ว่า ถ้ามีคนพูดถึงแบรนด์เรา ชื่อเรา ให้ส่งการแจ้งเตือนมาที่อีเมล โดยฟิลเตอร์การแจ้งเดือนด้วยภาษา ประเภทของคอนเทนต์ ตั้งความถี่ได้ค่ะ
ทริคเล็กๆ คือเวลาที่คนพูดถึงเราในเน็ต แต่ไม่ได้ลิงก์มาที่เว็บ เช่น อาจจะมีคนรีวิวเว็บเราในบล็อกส่วนตัวของเค้า เราสามารถติดต่อไปเพื่อขอให้เค้าลิงก์มาได้ เป็นการเพิ่ม Backlink ค่ะ อาจจะมีสิ่งตอบแทนบางอย่างให้หรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าเค้าพูดถึงเราอยู่แล้วก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเป็นลิงก์ได้ค่ะ :))
Google Keyword Planner
ตัว Google Keyword Planner เป็นเครื่องมือที่จริงแล้วเอาไว้ยิงโฆษณา Google Ads ค่ะ ดังนั้นแล้วเวลาใช้ก็จะต้องเข้าใจว่าส่วนไหนคือข้อมูลที่เอามาใช้ได้บ้าง เช่น ตัว Search Volume เอามาเป็นไอเดียได้ แค่ตัวการแข่งขันว่าคำนั้นยากหรือเปล่า เป็นการแข่งขันในมุมของการยิงโฆษณา ไม่เกี่ยวกับ SEO เลยค่ะ
ตัวนี้เราเอาไว้ช่วยจัดกลุ่มคีย์เวิร์ด และหาไอเดียคีย์เวิร์ดใหม่ๆ ค่ะ แค่ใส่เว็บเราหรือคู่แข่งลงไปก็จะมีไอเดียคีย์เวิร์ดมาให้เพียบ หรือถ้าเราใส่คำตั้งต้นลงไป (เช่น ประกัน) เค้าก็จะขึ้นคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ (เช่น การต่อประกัน ประกันรถยนต์ ประกันมอไซค์ ประกันหัวใจสำหรับคนแชทหนักขวา 🥺)
Google Keyword Planner เป็นเครื่องมือฟรี แต่ถ้าใครไม่เคยมีแอคเคาท์ยิงแอดมาก่อน ตอนสร้างอาจจะโดนบังคับให้สร้างแคมเปญโฆษณาค่ะ วิธีคือสร้างไปตามนั้น เสร็จแล้วให้มาปิดแคมเปญ ไม่จำเป็นต้องปล่อยรันให้เสียเงิน แล้วเราก็เข้ามาใช้เครื่องมือ Keyword Planner ได้แบบฟรีๆ เลยค่ะ
Google Analytics
Google Analytics เป็นเครื่องมือที่คนมีเว็บไซต์คงจะรู้จักดี ตัวนี้เอาไว้ดูข้อมูลว่าหลังจากที่คนเข้าเว็บมาแล้ว เค้าทำอะไรกัน ไปหน้าไหน ซื้อของหรือเปล่า ใช้เวลาบนเว็บเรานานมั้ย ฯลฯ
โดยเราสามารถเปรียบเทียบข้อมูลของแต่ละหน้าบนเว็บ หรือจากกลุ่มคนแต่ละกลุ่ม ช่องทางการเข้าเว็บแต่ละช่องก็ได้ เช่น เราอาจจะพบว่า Facebook เราทำดีมาก คนเข้าเยอะมากกก แต่ไม่มีคนซื้อของเราเลย เทียบกับ Google แล้วคนเข้าน้อยกว่า แต่ซื้อของเยอะ (Conversion Rate ดี) ก็อาจจะเอา Resources ที่มีมาใช้กับ Google แทน ให้เกิดผลตอบแทนที่ดีที่สุดค่ะ
Google Search console
Google Search console เป็นเครื่องมือที่ฟรี และดีมากกกกกค่ะ คือทุกคนที่มีเว็บไซต์ควรจะมีไว้ มีแค่อันนี้ก็ไม่ต้องไปใช้ตัวเช็กอันดับเว็บไซต์อื่นๆ ให้เปลืองแล้วค่ะ แต่ข้อจำกัดคือจะเช็กได้สูงสุด 1000 คำ ดังนั้นถ้าเว็บเราใหญ่ มีคีย์เวิร์ดเยอะ ก็อาจจะต้องต่อ API หรือใช้เครื่องมืออื่นๆ มาช่วยค่ะ
Google Search console เราจะเรียกย่อๆ ว่า GSC เป็นเครื่องมือมาจาก Google ไว้ดูข้อมูลเกี่ยวกับ Organic Search หรือการทำ SEO เท่านั้น พวก Social Media หรือการยิงแอดจะไม่รวมด้วยค่ะ ความแตกต่างของ GSC กับ Google Anaytics (GA) คือ ตัว GSC จะโชว์ข้อมูลด้าน SEO ก่อนที่คนจะเข้าเว็บเรา ส่วน GA จะแสดงข้อมูลหลังจากที่คนเข้าเว็บเราแล้ว
ตัว GSC เลยจะมีข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ความปลอดภัยของเว็บเรา ข้อมูลการ Index คีย์เวิร์ดที่เราติดอันดับ Impression Clicks อันดับเฉลี่ย แบ่งรายหน้า รายประเทศ รายอุปกรณ์ คือฟิลเตอร์ได้เยอะมากๆ ค่ะ ถ้าทำ SEO แล้ว ยังไงก็ต้องมาติดตาม Metrics ต่างๆ ได้ที่นี่ค่ะ จะได้ไม่ทำไปอย่างเลื่อนลอย
นอกจากนี้ยังช่วยให้เราเช็กคะแนน Core Web Vitals ซึ่งเป็นปัจจัยจัดอันดับด้าน Page Experiences ใหม่ได้ในที่เดียว และล่าสุดทาง Google ได้ออก Search console Insights เพิ่มเติม อยู่ใน GSC เป็นการสรุปข้อมูลจากกราฟที่ดูเยอะๆ ให้เราเอามาทำคอนเทนต์ต่อได้ง่าย ถ้ามี GSC อยู่แล้วจะอยู่ด้านบนๆ ค่ะ
คืออันนี้มันต้องมีจริง! อย่าลืมติดตั้งกันนะคะ
Google Tag Manager
เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราจัดการเรื่อง Tracking ต่างๆ บนเว็บไซต์ได้ง่ายค่ะ เช่น เราอาจจะอยากแทร็คว่า คนเข้าเว็บเรามาแล้ว กดคำว่า “อ่านเพิ่มเติม” ไปกี่ครั้ง หรือคลิกแอดไลน์เรากี่คน ก็มาทำใน Tag Manager ให้ไปแสดงผลบน Google Analytics ได้
นอกจากนั้นแล้ว ยังเอาไว้ติด Tag อื่นๆ เช่น Facebook Pixel หรือ Google Ads Conversion เพื่อเอาอีเวนท์ต่างๆ ที่เราแทร็ค ไปยิงแอดต่อก็ได้ เช่น แทนที่เราจะยิงแอดไปให้คนเห็นเฉยๆ เราอาจจะตั้งเป้าหมายของแอดเพื่อให้ได้คนที่ “กดติดต่อเรา” มามากที่สุด
การแทร็คอีเวนท์นี่สำคัญมากๆ เลยค่ะ มันทำให้เราไม่ทำการตลาดอย่างเลื่อนลอย เพราะรู้ว่าคนเข้าเว็บมาแล้วเค้าทำอะไรบ้าง สุดท้ายเราก็แค่อยากให้มีอีเวนท์ขอสักคนที่มี หัวววใจอยู่ในนั้น หัววววใจตรงกับช้านนน มาเอาความรักชั้นไปปป (คนละอีเวนท์! )
PageSpeed Insights
PageSpeed Insights ตัวนี้เอาไว้เช็กความเร็วเว็บไซต์กับ Core Web Vitals ของเว็บเราได้ค่ะ เช็กได้ทั้งบนมือถือและ Desktop แล้วก็มีคำแนะนำให้เอาไปทำตามได้ด้วย ว่าจะปรับเว็บให้ดีขึ้นได้ยังไง
เวลาแก้เว็บเสร็จแล้วก็เอามาเช็กคะแนนที่นี่อีกที ก่อนดูผลจากการใช้งานจริงค่ะ
ส่วนถ้าใครโปรหน่อย จะสลับมาใช้ Google Lighthouse ก็ได้ค่ะ ตัวนี้จะมา Audit เว็บเราจริงๆ ให้คำแนะนำเฉพาะเว็บไซต์กว่า ละเอียดกว่า และมีข้อมูลมากกว่าค่ะ ตัวนี้มี Chrome Extension ให้เราเช็กเว็บได้ในคลิกเดียวด้วย!
สรุปเรื่องเครื่องมือทำ SEO จากการทำงานจริง
อย่างที่เมเล่าไปตอนแรกค่ะ เราใช้เครื่องมือมาประกอบให้งานของเราง่ายขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องรู้ก่อนว่าเราจะทำอะไรค่ะ เรามีรถมาช่วยให้เดินทางได้ไวขึ้น แต่ถ้าเราไม่รู้จะไปไหนมีรถไปก็เปลืองเปล่าๆ ดังนั้นแล้วทุกเครื่องมือเลือกใช้ตามความจำเป็นก็พอ ใช้ตัวฟรีก็ได้ถ้าทำงานได้ แล้วค่อยๆ ลองเครื่องมือใหม่ๆ ที่เหมาะกับเราไปเรื่อยๆ ค่ะ เพราะแต่ละคนก็ถนัดไม่เหมือนกัน
สนใจเรื่อง SEO เพิ่มเติม ตามมาดูคอร์ส SEO กันได้ ติดต่อมาให้เมไปทำ In-house training เรื่อง SEO ให้บริษัทก็ได้ หรือตามมาคุยกันได้ตามช่องทางอื่นๆ ด้านล่างนี้นะคะ ❤️
❤️ ช่องทางการติดตามอื่นๆ
Facebook Page: SEO โบ๊ะบ๊ะสไตล์ by Chalakorn Berg
Twitter: @berg_seo
กรุ๊ป Facebook SEO Thailand: พื้นที่ปลอดภัยเอาไว้พูดคุย/สอบถามเรื่อง SEO + อัปเดตสั้นๆ
Podcast: SEO โบ๊ะบ๊ะ
YouTube: Chalakorn Berg – SEO